No Homework, No Exam

 


บทความนี้จะเป็นบทความสรุป เพื่อให้เห็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ หลังจากที่ผมได้เข้าอบรมเกี่ยวกับ แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ No Homework, No Exam ว่าผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง และมีอะไรที่สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับสิ่งที่ผมรู้จักได้บ้าง


แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ
No Homework, No Exam

อย่างที่ผมบอกไปว่าในบทความนี้จะไม่ได้พูดถึงเพียงแค่สาระในการอบรมเท่านั้น แต่จะเป็นการใส่แนวคิดของผมเพิ่มเติมเข้าไปด้วย ผลจึงขอตั้งชื่อแนวปฏิบัตินี้ว่า
"แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ No Homework ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ  Flipped classroom และการประเมินผลเพื่อพัฒนา สำหรับห้องเรียนพิเศษเพชรบัวพิทย์ โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร"

บทนำ


ห้องเรียนพิเศษเพชรบัวพิทย์

เป็นห้องเรียนพิเศษที่โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร ได้จัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม ให้คำปรึกษา ชี้แนะ และฝึกทักษะในการทำข้อสอบ ให้นักเรียนที่มีความสนใจที่จะเข้าศึกษาต่อระดับ มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความชำนาญ สามารถทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีความแม่นยำ และมีไหวพริบในการแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างหลากหลาย ตลอดจนมีความพร้อม และความมั่นใจในการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยอาศัยการทำซ้ำ และวิเคราะห์จุดอ่อนของตนเอง และนำมาแก้ไขปรับปรุง

การจัดการเรียนรู้แบบ No Homework

เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่จะเน้นให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด หรือใบกิจกรรมให้เสร็จตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน คุณครูเอาใจใส่นักเรียนได้มากขึ้น ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนเท่านั้น แต่จะได้รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล จะทำให้รู้ว่าเขามีจุดแข็งและจุดบกพร่องอะไรบ้าง นำไปสู่การส่งเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดบกพร่อง โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้มองว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน และทุกคนสามารถพัฒนาให้เก่งขึ้นได้ถ้านักเรียนทุกคนมีเวลาเพียงพอที่จะทำความเข้าใจ จนแน่ใจว่าสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง 100% โดยมีตัวช่วยอย่างเหมาะสม

การจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) 

เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน ส่วนการเรียนในชั้นเรียนปกตินั้นจะเป็นการเรียนแบบ Active learning เพื่อพัฒนาทักษะขั้นสูง เช่น สืบเสาะหาความรู้ และทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน โดยที่ครูทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้จุดประกายความคิด (แบ่งเวลาเรียนรู้เป็นในห้องเรียน และนอกห้องเรียน)

การประเมินผลเพื่อพัฒนา (Evaluation for development) 

เป็นการประเมินเพื่อนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินนักเรียน การประเมินประเภทนี้ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน  เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตรหรือไม่ หากนักเรียนไม่ผ่านจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนก็จะหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

บริบทของโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร

ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ของนักเรียนโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร พบว่ามีระดับตกต่ำลง โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยเกือบทุกวิชาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และอยู่อันดับที่ 632 ของประเทศในปี 2563


โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร มีหลักสูตรห้องเรียนพิเศษหลายหลักสูตร เช่น ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ (SMTE) ห้องเรียนพิเศษ EIS และห้องเรียนพิเศษเพชรบัวพิทย์ แต่การจัดการเรียนรู้ของห้องเรียนพิเศษไม่มีความแตกต่างจากห้องเรียนปกติมากนัก และถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับโรงเรียนประจำจังหวัดที่อยู่ใกล้กัน อย่าง เลย อุดรฯ และขอนแก่น


คะแนนเฉลี่ย O-NET ปี 2560 - 2563




แนวทางการนำองค์ความรู้มาใช้


แนวทางการนำองค์ความรู้จากอาจารย์ทนง โชติสรยุทธ์ มาใช้ยกระดับโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร ที่ผมอยากนำเสนอมีอยู่ 3 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1 คือการนำร่องใช้กับห้องเรียนพิเศษก่อน

โดยใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ No Homework ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ (Flipped classroom) และการประเมินผลเพื่อพัฒนา (Evaluation for development) ซึ่งผมขอยกตัวอย่างการจัดตารางการเรียนรู้ของห้องเรียนพิเศษเพชรบัวพิทย์ ปีการศึกษา 2564 แบบคร่าวๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากได้รับความร่วมมือ และการสนับหนุนมากพอ


แนวทางที่ 2 คือให้ลดเวลาเรียนจาก 60 นาที เหลือ 50 นาที 

ซึ่งจะทำให้การสอน 7 คาบจบในเวลา 14.20 น. และสามารถนำเวลา 14.20 -15.10 มาเป็นชั่วโมง Homework ได้ 

แนวทางที่ 3 คือให้คาบแปดของทุกวันเป็นวิชา Homework

คาบเรียนที่ 8 ในตารางเรียนปกติจะอยู่ที่เวลา 15.30 -16.30 น. ซึ่งสามารถกำหนดให้คาบนี้เป็นชั่วโมง Homework ได้

แนวทางการจัดการเรียนรู้

การเรียนแบบ Active learning ตามตารางเรียนปกติ 

ครูจัดรูปแบบการสอนตามปกติ ใช้สื่อการเรียนรู้ เช่น PowerPoint หนังสือ อาจมีการทำ Quiz โดยใช้สื่อ เช่น Kahoot Plicker และ Quizizz เป็นต้น 
(Quiz ควรเป็นการถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจตามผลการเรียนรู้เท่านั้น ไม่ควรประยุกต์)

ชั่วโมงการบ้าน (Homework/Clinic) 

เป็นชั่วโมงทำการบ้านโดยที่นักเรียนช่วยเหลือกันเองในการทำแบบฝึกหัดที่ได้จากการเรียนในชั่วโมงปกติของวันนั้น (หลักการ Think pair share) ครูผู้ดูแลเป็นเพียงผู้สังเกต ไม่ใช่การติว หรือเฉลยคำตอบให้นักเรียน (การบ้านอาจเป็นข้อสอบเก่าของสนามสอบต่างๆ เป็นต้น)

เวลาว่าง (Free time)

ใช้สำหรับพัฒนาทักษะนอกห้องเรียน ที่ครูหรือเพื่อนไม่สามารถช่วยเหลือได้ ต้องเกิดจากการลงมือปฏิบัติเองจึงจะเกิดทักษะ เช่น ทักษะกีฬา ทักษะการวาดภาพ ทักษะการเล่นดนตรี ทักษะการเป็นนักลงทุน ทักษะการเป็นนักประดิษฐ์ และทักษะการเป็นผู้นำ เป็นต้น

Passive learning

เป็นการเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้าจากวีดิโอ สำหรับเตรียมตัวเพื่อการเรียนในวันต่อไป

                                                                                                       

เรียบเรียงโดย
นายสิทธิชาติ สิทธิ
ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร จ. หนองบัวลำภู

February 7, 2021
0

Comments

Search

Contact Me